10 ข้อเกี่ยวกับโรคหัวใจที่มักเข้าใจผิดสำหรับประชาชนทั่วไปตลอดปี 2017
1. ยาอมใต้ลิ้นที่เป็นยาในกลุ่มไนเตรตเช่น ISDN ไม่ใช่ยาวิเศษ ช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจลดอาการเจ็บหน้าอกในกรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง แต่ไม่ช่วยในกรณีหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน จากการแตกของคราบหลอดเลือด ซ้ำร้ายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาได้ หากมีอาการเจ็บอกฉับพลัน เหนื่อยแน่นหายใจไม่ออกรุนแรง หรือ หมดสติ ให้โทร 1669 ทันที
2. หากพบคนหมดสติ เรียกไม่รู้ตัว ไม่ต้องเสียเวลาตรวจชีพจร หรือ ดูว่าหายใจหรือไม่หายใจ ให้โทร 1669 ก่อนเสมอ และเริ่มกดหน้าอกทันที กดไปเรื่อยๆจนกว่าความช่วยเหลือจาก 1669 จะมาถึงหรือผู้ป่วยรู้ตัวคืนสติ หากมีคนอยู่รอบๆให้ออกตามหาเครื่อง AED มาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้สูงที่สุด
3. ยาลดไขมันกลุ่ม statin แพทย์ให้เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปฐม เป้าหมายหลักไม่ใช่เพื่อลดระดับไขมันในเลือดอีกต่อไป ดังนั้นแม้ระดับไขมันในเลือดลดต่ำลงการกินยาไปตลอดชีวิตจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับคนไข้ได้มากกว่าการไม่กิน จะพิจารณาหยุดยาต่อเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผู้ป่วยทนยาไม่ได้ซึ่งพบได้ไม่บ่อย
4. ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการได้ยา statin จำเป็นต้องคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมด้วยอยู่แล้ว การไม่กินยาทั้งที่สามารถกินได้ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดให้กับผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
5. น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม มีสัดส่วนของกรดไขมันอิ่มตัวสูงควรหลีกเลี่ยง พยายามให้สัดส่วนของพลังงานที่ได้รับต่อวันมาจากกรดไขมันอิ่มตัว < 7 - 10% และทดแทนด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวทั้งเชิงซ้อนและเชิงเดี่ยว (PUFA, MUFA) ซึ่งพบในน้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง และ น้ำมันรำข้าว จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
6. ไม่แนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าจำเป็นต้องดื่มไม่ควรเกินวันละ 1 drink หรือ 1 ดื่มมาตรฐาน = 10 - 14 g alcohol คำว่า alcohol คือ ethanol นั่นเองนะครับ ซึ่ง 1 drink ที่ว่าจะเท่ากับ 12 oz หรือ 360 cc ของเบียร์ (4-5% alcohol), 5 oz หรือ 150 cc ของไวน์ (12% alcohol), 1.5 oz หรือ 45 cc ของ เหล้า, วิสกี้, เหล้าขาว (40% alcohol) ตัวเลข % alcohol คือ Alcohol By Volume หรือ ABV คนไทยเรียกว่าดีกรี เช่น เหล้า 40 ดีกรี คือเหล้าที่มีความเข้มข้นของ alcohol 40% โดยทั่วไปเบียร์ จะมี 2.5% - 8% ไวน์ จะมี 10% - 15% เหล้า จะมี 15% - 20% เหล้าขาว จะมี 20% ขึ้นไป cocktail ขึ้นกับการผสม ปริมาณเหล้า(เป๊ก)ที่เทในแก้ว ความแรงของส่วนผสมค๊อกเทลแต่ละชนิด วิธีคำนวณออกมาเป็น gram ของ Ethanol ให้เอา % alcohol x ปริมาตรเครื่องดื่มเป็น cc x 0.789 (ความถ่วงจำเพาะของ alcohol) ก็จะได้ออกมาเป็น alcohol หน่วยเป็นกรัม เอา 10 หรือ 14 หารก็จะได้หน่วยเป็น standard drink ยกตัวอย่าง คุณดื่มเหล้า 40 ดีกรี ครึ่งขวด ซึ่ง 1 ขวด มี 625 มล. 40% x 1/2 x 625 x 0.789 = 98 g = 98/14 = 7 drink ต่างประเทศ อาจจะได้ยินหน่วย proof ซึ่งเป็นหน่วยวัดปริมาณ alcohol แบบโบราณของอังกฤษ แต่ปัจจุบันก็ยังมีใช้อยู่ ให้เอา 4/7 ไปคูณตัวเลข proof ที่หน้าขวดก็จะได้ % alcohol ออกมา ยกตัวอย่างเช่น 175 proof spirit = 100% alcohol, 100 proof spirit = 57% alcohol, 80 proof spirit = 40% alcohol เป็นต้น
7. กินไข่แดงได้ไม่เป็นไรครับ มีประโยชน์กับร่างกายด้วย แต่อย่าให้เยอะเกินไป วันละ 1-2 ฟองไม่เกินนี้ก็พอแล้ว ปัจจุบันการจำกัดการกิน cholesterol ที่มีอยู่ในอาหารมีหลักฐานน้อยลงมากขึ้นเรื่อยๆ คำแนะนำเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงกรดไขมันประเภททรานส์และกรดไขมันอิ่มตัวในอาหารเป็นสำคัญ น้ำมันที่ใช้ทอดไข่อาจจะสำคัญกว่าตัวไข่แดงเองด้วยซำ้ไป
8. หลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน เกิด heart attack เสียชีวิตทันทีทั้งในคนอายุน้อยๆหรือผู้ป่วยสูงอายุ คาดเดาการเกิดไม่ได้ การตรวจหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือแม้แต่ฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ ผลออกมาปกติ อีกไม่กี่วันก็สามารถเกิดการอุดตันฉับพลันของเส้นเลือดหัวใจได้ สิ่งที่พอจะช่วยบอกความเสี่ยง ได้แก่ อายุ สูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคไต ประวัติครอบครัวที่เป็นโรคหลอดเลือดในอายุไม่มาก ความเครียด ยาหรือสารกระตุ้นต่างๆที่ใช้ และ ระดับ LDL ในเลือดที่สูงมาก เป็นต้น เนื่องจากคาดเดาไม่ได้ ตรวจก่อนก็ไม่ช่วย การโทร 1669 เมื่อมีอาการให้รีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต
9. ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟแต่ละแก้ว หรือ แต่ละ serving ขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักคือ ชนิดเมล็ดกาแฟ วิธีการคั่ว และ วิธีการชง ไม่ได้ขึ้นกับยี่ห้อร้านกาแฟ สารคาเฟอีนมีโครงสร้างคล้ายกับ adenosine มีผลต่อทั้งระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลายให้มีการหลั่ง dopamine และ serotonin ออกมามากขึ้น ทำให้ไม่ง่วง หัวใจเต้นเร็ว บีบตัวแรงขึ้น หรือ มีอาการใจสั่นได้ ค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ราวๆ 5 ชั่วโมง ในหนึ่งวันเราไม่ควรรับคาเฟอีนเกินกว่า 300 มก. โดยทั่วไป 1 ช๊อตของ espresso ตามร้านกาแฟสดจะมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 70 - 100 มก กาแฟกระป๋อง ถ้าสังเกตข้างกระป๋องจะมีเขียนบอกปริมาณคาเฟอีนต่อ 100 มล. ตามข้อกำหนดของอย. แต่ในหนึ่งกระป๋องที่จำหน่ายมักจะมีปริมาตร 180 มล. โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 70 - 80 มก.ต่อ 100 มล. ดังนั้นหนึ่งกระป๋องตกประมาณ 130 มก. นั่นเอง
10. คาเฟอีนในกาแฟทำให้หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่นได้ โดยทั่วไปจึงไม่แนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง หรือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่ระบุว่าการดื่มกาแฟทำให้เสียชีวิตจากโรคต่างๆรวมถึงโรคหัวใจ หรือเกิด Atrial Fibrillation มากกว่าการไม่ดื่มกาแฟเลย แต่อย่าลืมว่า absence of evidence is NOT evidence of absence การไม่พบไม่ได้แปลว่าไม่มี ท้ายที่สุดคงต้องกลับมาใช้หลักมัชฌิมาปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ไม่ดื่มก็ดี ถ้าต้องดื่มก็ให้ดื่มแต่พอดี
---